Wasu Srimongkol

Graphic Designer & Illustrator

THE BRAND I WORKed FOR 👋 CLICK For check! 👇

Checklist 3 Level of Gastroesophageal reflux disease (GERD), Know Quickly to Prevent in Time!

พอก้าวย่างเข้าสู่วัยทำงาน ด้วยอายุที่มากขึ้นทำให้ร่างกายทำงานถดถอยลง การใช้ชีวิตโดยไม่คำนึงถึงสุขลักษณะที่ดีในสมัยเด็กกลับส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างที่ไม่เคยเป็นเมื่อเราโตขึ้น

เรามาดูโรคยอดฮิตของวัยทำงานที่สร้างความน่ารำคาญตั้งแต่ระดับชวนหงุดหงิด จนถึงอาการอันตรายที่ควรเข้าปรึกษาแพทย์โดยด่วน มาเรียนรู้และเข้าใจกับ สาเหตุโรคกรดไหลย้อน (GERD) ก่อนที่จะสายเกินแก้กันเถอะ

กรดไหลย้อนคืออะไร ?

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) คือภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร โรคกรดไหลย้อนสามารถพบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ เบื้องต้นเกิดอาการจุกเสียด เรอบ่อย แสบร้อนจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในประจำวัน

ดังนั้นเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ เราจึงขอแบ่งโรคกรดไหลย้อนออกเป็น 3 ระดับ ที่ช่วยให้สังเกตได้ง่ายว่า อาการแบบไหนที่ระวังและระดับไหนควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคกรดไหลย้อน

Level 1 นักผจญกรดไหลย้อนมือใหม่

​​​​​​​อาการเบื้องต้นของโรคกรดไหลย้อนที่มีลักษณะเช่นเดียวกับ โรคกระเพาะอาหาร ก็คือมีลมในช่องท้อง เมื่อกินอาหารจะรู้สึกจุกแน่น ท้องแข็ง เกิดจากการที่กระเพาะไม่สามารถย่อยอาหารได้ดีเท่าที่ควรทำให้เกิดแก๊สจากอาหารตกค้างในกระเพาะจำนวนมาก

อาการ

1. มีลมในช่องท้อง เรอบ่อย

2. ท้องแข็ง เกิดแก๊สในกระเพาะ ไม่ระบาย

3. จุกแน่น ไม่สบายเนื้อสบายตัว อึดอัด

วิธีรักษาโรคกรดไหลย้อน

1. กินอาหารให้ตรงเวลา หากกระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยไม่เหมาะสมตามเวลา ส่งผลให้เกิดการย่อยที่ไม่สมบูรณ์เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกรดไหลย้อน

2. ลดการดื่มน้ำระหว่างกินอาหาร ทำให้น้ำย่อยในกระเพาะเจือจาง ส่งผลทำให้ระบบการย่อยอาหารลดลง

3. หลัง 2 ทุ่ม ให้กินอาหารที่ย่อยง่าย การย่อยอาหารมักใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง ถ้ากินมื้อหนักจะทำให้ร่างกายใช้เวลาในการย่อยมากขึ้น ยิ่งเรานอนทันทีอาจทำให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปตามหลอดอาหารได้ด้วย

Level 2 นักผจญกรดไหลย้อนมืออาชีพ

อาการคืออาหารไม่ย่อย หายใจไม่สะดวกแสบร้อนกลางอก เหนื่อยง่าย การขับถ่ายมีปัญหา โดยสาเหตุมาจากการที่มีอุจจาระค้างในลำไส้จำนวนมาก ทำให้จุลินทรีย์ไม่ดีในลำไส้เพิ่มมากขึ้นจนส่งผลต่อจุลินทรีย์ดี ส่งผลต่อการย่อยสลายอาหารทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

อาการ​​​​​​​

1. อาหารไม่ย่อย เกิดแก๊สในกระเพาะ ท้องอืด ท้องเฟ้อ

2. หายใจไม่สะดวก เนื่องจากลำไส้เริ่มโป่งพองจากลมในกระเพาะ ทำให้ปอดขยายตัวไม่เต็มที่

3. แสบร้อนหน้าอก ลมพาน้ำย่อยในกระเพาะย้อนขึ้นมาตามหลอดอาหาร

4. ท้องผูก ตดเหม็น มีกลิ่นปาก เนื่องจากจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ลดลง จึงเกิดแก๊สสะสมจำนวนมาก

วิธีรักษาโรคกรดไหลย้อน

1. ปรับพฤติกรรม เช่นเดียวกับ วิธีรักษาโรคกรดไหลย้อน Level 1

2. กินโปรไบโอติค (จุลินทรีย์ที่ดี) เพื่อช่วยย่อยสลายอาหารที่ตกค้าง

3. ลดความเครียด ความเครียดส่งผลต่อการหดเกร็งของอวัยวะต่าง ๆ

Level 3 ปรมาจารย์ด้านกรดไหลย้อน

หากปล่อยโรคกรดไหลย้อนทิ้งไว้เป็นเวลานาน ระบบย่อยอาหารจะเริ่มมีปัญหาทำให้การดูดซึมสารอาหารลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อสารอาหารในเลือดไม่เพียงพอต่อการใช้หล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย อวัยวะทำงานลดลง เมื่อร่างกายต้องการพลังงานมากขึ้น จึงต้องรักษาด้วยการกำจัดอาหารที่ตกค้าง และปรับระบบย่อยอาหารให้ทำงานดีขึ้น

อาการ

1. ผิวพรรณทรุดโทรม มีริ้วรอยมากขึ้น ผิวขาดความกระชับ

2. ปวดหัว ปวดท้ายทอยบ่อย ๆ จากการขยายตัวของกระเพาะ

3. นอนหลับไม่สนิท ไม่สบายตัว

4. ปลายนิ้วชา

5. ประจำเดือนมาไม่ตรงเวลา

วิธีรักษาโรคกรดไหลย้อน

1. ปรับพฤติกรรม เช่นเดียวกับ วิธีรักษาโรคกรดไหลย้อน Level 1

2. กินยาที่ช่วยเพิ่มสารอาหารในเลือด เพื่อให้เม็ดเลือดมีคุณภาพ ช่วยให้กระเพาะอาหาร ม้าม ตับ กลับมาทำงานได้ดี เช่น โสม สาหร่ายเกลียวทอง น้ำมันมะพร้าว

3. กินสมุนไพรที่ช่วยระบาย ช่วยกำจัดอาหารที่ตกค้างในลำไส้ ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ

4. กินสมุนไพรที่ช่วยย่อย เป็นอีกตัวช่วยให้สามารถย่อยอาหารได้ดียิ่งขึ้น เช่น ขิง ขมิ้นชัน พริกไทย

5. กินโปรไบโอติค (จุลินทรีย์ที่ดี) เพื่อปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ ลดการสร้างแก๊ส ขับถ่ายดีขึ้น

ตอนนี้ทุกคนน่าจะพอทราบแล้วว่าตัวเองอยู่เลเวลไหนในโลกของโรคกรดไหลย้อน ถ้ายังอยู่เพียงเลเวลแรก ๆ ก็แนะนำให้รีบปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่หากถึงขั้นมืออาชีพแล้ว แนะนำให้รีบเข้าปรึกษาแพทย์ แม้อาการเบื้องต้นจะไม่ได้รุนแรงถึงชีวิต แต่หากทิ้งไว้นานนอกจากร่างกายจะแย่ลงแล้วยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย Wongnai รักนะจึงอยากเตือน!

References:

หมอแดง,ทีมงาน ดิ อโรคยา(2015). หนังสือคู่มือบำบัดโรค เล่ม 1. Retrieved from http://thearokaya.co.th/web/?p=4546

honestdocs(2019). โรคกรดไหลย้อนคืออะไร?. Retrieved from https://www.honestdocs.co/gerd​​​​​​​